วันที่ 13 มีนาคม 2567
นายโอภาส ถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 มอบหมายให้ ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ 3 กำแพงเพชร
(นางสาวกริสพร จักษุรางค์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ) เข้าร่วมโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำ ผ่านกลไกความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดกำแพงเพชรและการขับเคลื่อนภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ระยะ 3 ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในการประชุม
วัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดชุดความรู้ ข้อมูล กระบวนการในการสร้างรูปธรรมการใช้เทคโนโลยีและวิทยาการในการบริหารจัดการน้ำและต้นแบบการบริหารจัดการน้ำชุมชนของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยมี รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม นายชวนินทร์ สุภาษา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง, นายสกุลเพชร พิกุลประเสริฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร, คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดกำแพงเพชร, ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง, ผู้ร่วมศึกษาดูงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ จ.ฉะเชิงเทรา, ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำและแกนนำชุมชน ทีมวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ/นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาดังกล่าว นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า จากสถานการณ์เรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรจะเห็นได้ว่าพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยสถานการณ์น้ำท่วมเกิดจากสาเหตุระบบระบาย ไม่เพียงพอ ถนนกีดขวางทางน้ำและลำคลองตื้นเขิน ส่วนพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่สูง ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ หรือปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้ต้องมีการจัดการปัญหาเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการกล่าวรายงานผลการศึกษาของแผนงานจะเห็นได้ว่าภายใต้การดำเนินงานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ร่วมกับทีมนักวิจัย ได้ส่งผลต่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการดำเนินงานที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ของทุกภาคส่วนที่ต้องเข้ามาทำงานร่วมกันพัฒนาและยกระดับเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรผู้ใช้น้ำ แกนนำชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการจัดการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังสามารถยกระดับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สู่การเป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยี มาวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม/องค์กรผู้ใช้น้ำในการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมที่ส่งผลต่อการสร้างอาชีพและรายได้ของคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นที่กำลังต้องเผชิญปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำต่อไป